วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์ไทย ตอน สงครามยุทธหัตถี

๑๓ สงครามยุทธหัตถี ..... ปีพศ.๒๑๓๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระบิดาสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรทรงขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ทางพระเจ้านันทบุเรงยังคิดจะปราบปรามไทยให้ได้ จึงจัดทัพให้พระมหาอุปราชายกทัพหลวงมีกำลังพลสองแสนคน ยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรทราบข่าวจึงทรงใช้กลศึกในการรบเพราะมีทหารน้อยกว่ามาก สั่งให้กองทัพซุ่มรออยู่แล้วแต่งทัพน้อยออกไปล่อข้าศึก ทางฝ่ายพระมหาอุปราชาเห็นดังนั้นจึงประมาทยกทัพเข้าไล่ตีจนมา ถึงบริเวณที่ทัพไทยซุ่มรออยู่จึงได้รบพุ่งกันด้วยสามารถจนถึงขั้นตะลุมบอน ทัพพม่าแตกพ่ายหนีกระเจิดกระเจิง ทัพไทยไล่ตามมาติดๆเกือบจะจับพระมหาอุปราชาได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความอัปยศอดสูให้พระเจ้านันทบุเรงอย่างมาก เพราะว่ายกทัพไปหลายแสนยังแพ้กลับมา จึงทรงให้แก้ตัวใหม่อีกครั้งคราวนี้พระมหาอุปราชานำกองทัพทหารจำนวนสองแสนสี่หมื่นคนหมายจะชนะศึกครั้งนี้ ประมาณปลายปี พศ.๒๑๓๕ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มาตีไทยอีกแล้ว จึงทรงเตรียมไพล่พลมีกำลังหนึ่งแสนคน เดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรีข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย รุ่งเช้าของวันจันทร์เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง พศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระองค์เครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างนามเจ้าพระยาไชยานุภาพเป็นคชาสาร ทางสมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างนามเจ้าพระยาปราบไตรจักรเป็นคชาสาร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงาที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า จะมีเพียงทหารรักษาพระองค์และจตุลังคบาลเท่านั้นที่ติดตามไป ช้างทรงของสองพระองค์หลงเข้าไปลึกประมาณร้อยเส้น และ ตกอยู่ในวงล้อมข้าศึก ด้วยพระปฏิพาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึก จึงได้ทรงท้าทายให้พระมหาอุปราชาออกมาชนช้างทำยุทธหัตถี เพื่อเป็นเกียรติในการรบแก่ไพล่พล พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้นจึงทรงช้างพลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทันจึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลักสมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชา เข้าที่ไหล่ขวาสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ( เป็นการชดใช้กรรมสมัยที่พระเจ้าแปรฟันพระแสงของ้าวถูกพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ชีพ ) ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะรีเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้วจึงใช้ปืนยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้นทัพหลวงไทยตามมาช่วยทันจึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าก็ยกทัพกลับไป ( สถานที่ทำยุทธหัตถี ปัจจุบันคือ ต.ดอนเจดีย์ ห่างจากหนองสาหร่าย ๑๐๐ เส้น จ.สุพรรณบุรี )
ช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาปราบหงสาวดี
พระแสงของ้าวได้พระราชทานนามว่า เจ้าพระยาแสนพลพ่าย
พระมาลาหนังที่ถูกฟันขาดได้พระราชทานนามว่า พระมาลาเบี่ยง
สมเด็จพระนเรศวรทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์ใหญ่ชื่อ “ เจดีย์ชัยมงคล ” ในวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศที่ทรงทำยุทธหัตถีชนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น